วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การคูณธาตุ เพื่อใช้อาหารแทนยา

ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความสนใจในเรื่องสุขภาพของตนเองเพื่อไม่ให้เกิดโรค ดีกว่าการรักษาเมื่อเกิดโรคแล้ว ทางเลือกหนึ่งของการดูแลสุขภาพตนเองนั้น มาจากอาหารที่เรารับประทานกันนั่นเอง
การเลือกรับประทานอาหารที่ใครต่อใครว่าดีนั้นอาจจะไม่เหมาะสมหรือไม่ดีกับอีกคนก็ได้นะคะ เพราะธาตุ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ในตัวของแต่ละคนไม่เหมือนกันคะ ถ้าได้คูณธาตุ รู้ว่า คนใดมีธาตุใดปกติ หรือกำเริบ หย่อน พิการ และเลือกกินอาหารเป็นยาตามความเหมาะสมของแต่ละธาตุที่ผิดปกติไปนั้น จะได้ผลดีกว่า แต่หากว่าคูณธาตุไม่เป็น ก็สามารถสังเกตได้จากอาการ หากว่า... 

ธาตุดินผิดปกติ จะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันที่เกิดกับ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เส้นเอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังพืด ไต ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า(อุจจาระ) มันสมอง 
ควร รับประทานอาหารรส ฝาด หวาน มัน เค็ม ได้แก่ มังคุด ฝรั่งดิบ ฟักทอง เผือก ถั่วต่าง ๆ เงาะ น้ำนม น้ำอ้อย เกลือ ฯลฯ

ธาตุน้ำผิดปกติ จะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกันเกี่ยวกับ น้ำดี น้ำเสลด หนอง  เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำปัสสาวะ
ควร รับประทานอาหารรสเปรี้ยว รสขม ได้แก่ มะกรูด มะนาว ส้ม สับปะรด มะเขือเทศ มะระ สะเดา ฯลฯ

ธาตุลมผิดปกติ จะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างเกี่ยวกับอารมณ์ จิตใจ การเต้นของหัวใจ ความหวั่นไหว ความกังวล (เรียกว่า หทัยวาตะ หรือลมที่หัวใจ) หรือมีอาการเจ็บปวดลึก ๆ เหมือนดังอาวุธเสียบแทง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ อวัยวะใดขาดเลือดจะมีอาการเจ็บปวดรุนแรง (เรียกว่าสัตถกวาตะ หรือ ลมเสียดแทงดังอาวุธ) หรือมีการทำงานของแขน ขา การปวดเจ็บหลัง การชัก การกระตุก (เรียกว่า สุมนาวาตะ หรือ ลมในเส้นกลางตัว) 
ควร รับประทานอาหารรสเผ็ดร้อน หรือรสสุขุม ได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย พริกไทย โหระพา กะเพรา ฯลฯ

ธาตุไฟผิดปกติ จะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน เกี่ยวกับปวดท้อง น้ำดีอุดตัน ตับอักเสบ เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง เคืองตา ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เจ็บก้น เกิดถุงน้ำดีอักเสบเป็นนิ่ว หรือมีอาการจุกเสียด อืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย (เรียกว่าดีในฝักพิการ
ถ้าดีนอกฝักพิการจะทำให้เหลืองทั้งตัว ดีในฝักพิการจะมีอาการคุ้มคลั่งเหมือนผีเข้า ถ่ายเป็นสีเขียว หรือมีไข้)
ควร รับประทานอาหารรสขม รสเย็น และรสจืดได้แก่ ผักบุ้ง ตำลึง บวบ ฟักเขียว หัวผักกาด มะระ แตงไทย แตงโม บัวบก ขี้เหล็ก แตง มันแกว ฯลฯ

เมื่อปรับธาตุให้สมดุลก็จะหายป่วยได้
               ตามหลักการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า คนที่อายุเกินกว่า 32 ปี จัดอยู่ในวัยชรา หรือเรียกว่า ปัจฉิมวัย อวัยวะต่างๆ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้วก็จะเริ่มเสื่อม  เหงือกฟันก็ไม่ค่อยดี การกินอาหารเคี้ยวไม่ละเอียดทำให้ธาตุลมกำเริบ เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย อาการเจ็บป่วยส่วนใหญ่จะเกิดจากธาตุลมเป็นเหตุ อาหารที่ควรรับประทาน คือ อาหารอ่อน ย่อยง่าย มีรสเผ็ดร้อน หรือรสสุขุม (ไม่เผ็ดไม่ร้อนเกินไป) ได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย กระเทียม พริกไทย โหระพา กะเพรา ใบมะกรูด เป็นต้น เป็นช่วยขับลม หรือกินยาหอม ยาธาตุจะเหมาะ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ภายหลังรับประทานอาหารเสร็จไม่ควรดื่มน้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัดนะคะ เพราะจะทำให้ธาตุไฟที่จะช่วยย่อยอาหารหย่อนลง (น้ำย่อยเจือจางลง) ควรพักให้อาหารได้คลุกเคล้ากับน้ำย่อยสักครู่ (15-30 นาที)แล้วค่อยดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำสะอาดธรรมดาๆ  ก็จะช่วยให้สุขภาพของเราดี  ไม่มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ลมขึ้นง่าย

สำหรับการคูณธาตุ นั้น ทำได้ไม่ยากเลย
โดย คุณ นำ ธาตุหลักทั้ง 4 เป็นตัวตั้ง ได้แก่ ดิน 20 น้ำ 12 ลม 6 และไฟ 4
บวกด้วยอายุของคนที่ต้องการคำนวณ (ถ้าอายุเกิน 6 เดือนไปแล้วต้องปัดให้เป็น 1 ปีนะคะ) จากนั้นนำ ค่าที่ได้ตั้ง หารด้วย 7 เศษที่ได้เป็นเท่าไหร่ นำมาแปลผล

เศษ 0
ธาตุพิการ (ผิดปกติ)
เศษ 1-3
ธาตุหย่อน (น้อยไป)
เศษ 4-5
ธาตุปกติ
เศษ 6
ธาตุกำเริบ (มากไป)


สมมติว่า คุณอายุ 45 ปี ต้องการทราบว่าธาตุใดปกติ กำเริบ หย่อน พิการ คำนวณได้ดังนี้

ดิน
น้ำ
ลม
ไฟ
ธาตุ
20
12
6
4
บวกด้วยอายุ
45
45
45
45
ผลลัพธ์
65
57
51
49
หารด้วย 7 เหลือเศษ
2
1
2
0

จากเศษที่ได้รับนำมาแปลผล คือคุณมีธาตุดิน น้ำ และลม หย่อน มีธาตุไฟพิการ อาหารที่คุณควรรับประทาน คืออาหารที่เพิ่มธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ  (อาหารไทยและอาหารพื้นบ้านที่เพิ่มธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ได้เป็นอย่างดี ได้แก่ เมี่ยงคำ แกงเลียง แกงส้ม อ่อม น้ำพริก แจ่ว ป่น พร้อมผักจิ้มนานาชนิด ยำรวมมิตรผักพื้นบ้าน หรือนึ่งปลาพร้อมผักหลาย ๆ อย่าง เป็นต้น โดยเฉพาะผักพื้นบ้านตามฤดูกาลดีที่สุด เพราะ นอกจากไม่มีสารฆ่าแมลงแล้วยังช่วยปรับธาตุในแต่ละฤดูกาล ซึ่งทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่แตกต่างกันไปในตัว)
             จากการคำนวณถ้าธาตุใดมากไป (กำเริบก็ลดอาหารที่มีธาตุนั้นๆ ถ้าธาตุใดหย่อน (น้อยไปก็เพิ่มอาหารที่มีธาตุนั้น ๆ เช่น ธาตุไฟสูง (กำเริบทำให้มีไข้หรืออารมณ์ร้อน ก็แก้ด้วยอาหารหรือสมุนไพรที่มีรสขม รสเย็น หรือรสจืด เช่น มะระ สะเดา บวบ ฟักเขียว ตำลึง ผักกาด แตง แตงโม แตงไทย ฯลฯ หรือธาตุไฟหย่อนก็เพิ่มอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน หรือรสสุขุม เช่น พริกไทยขิง ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม เป็นต้น จะช่วยเพิ่มธาตุไฟ ทำให้การขับผายลมดี เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก สุขภาพก็จะดีขึ้น และมีผิวพรรณดีได้อีกด้วย

อ้างอิงที่มาข้อมูล : คลิ๊กลิงก์
ดูข้อมูลเพิ่มเติม   : คุณมีธาตุอะไรในเดือนเกิด

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น